ประวัติโรงเรียน

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มีประวัติการก่อตั้งโรงเรียนสืบเนื่องมาจากโรงเรียนมัธยมหอวัง ซึ่งเป็นโรงเรียนสาธิตสังกัด แผนกวิชาครุศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเพื่อการฝึกหัดครู ชั้นประโยคครูมัธยม ครั้นต่อมาโรงเรียนมัธยมหอวัง  ได้เปลี่ยนรูปงาน เป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แผนกวิชาครุศาสตร์จึงไม่มีโรงเรียนสำหรับฝึกหัดครูเป็นระยะเวลานานประมาณ 15 ปี

เมื่อแผนกวิชาครุศาสตร์ขยายงานเป็นคณะครุศาสตร์โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคณบดี
ท่านได้เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งโรงเรียนสาธิต เพื่อการฝึกหัดครูขั้นปริญญาขึ้นแทนโรงเรียนมัธยมหอวัง
จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นโดยให้ชื่อว่าโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำพิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียน
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501


ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

คณะกรรมการที่ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนมี 6 ท่าน ได้แก่
1. นางพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
2. นางกมลกาญจน์ เกษไสว
3. นางพวงเพ็ชร เอี่ยมสกุล
4. นางประชุมสุข อาชวอำรุง
5. นางสาวดวงเดือน พิศาลบุตร
6. นายสำเภา วรางกูร


พิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียน 20 มิถุนายน 2501

ในปีการศึกษา 2501 โรงเรียนได้เปิดรับนักเรียนเป็นปีแรก โดยรับนักเรียนเข้าเรียน สองระดับคือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวนนักเรียน 30 และ 26 คนตามลำดับ ระยะเริ่มแรกนี้คณะมอบหมายให้
อาจารย์พวงเพ็ชร เอี่ยมสกุล เป็นผู้วางโครงการต่างๆ ในการจัดตั้งโรงเรียน แต่ท่านถึงแก่กรรมก่อนที่จะดำเนินตามโครงการที่วางไว้ คณะจึงมอบหมายให้อาจารย์ประชุมสุข อาชวอำรุง ในฐานะหัวหน้าแผนกวิชาประถมศึกษาเป็นผู้ดูแลด้านประถมศึกษาปีที่ 1 และอาจารย์ ดร.กมลกาญจน์ เกษไสว ในฐานะหัวหน้าแผนก วิชามัธยมศึกษา เป็นผู้ดูแลด้านมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ประจำชั้นในระยะแรกนี้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ อาจารย์ประสาร มาลากุล
ณ อยุธยา และอาจารย์สุภากร ราชากรกิจ ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ อาจารย์อาภรณ์ ชาติบุรุษ


ตึกอำนวยการ (เดิม)

ในระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งโรงเรียนมีปัญหาเรื่องสถานที่เรียนเป็นอันมาก แต่ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัย ให้ใช้สถานที่ ที่สร้างเป็นที่ประกอบอาหารของหอพักนิสิต แต่ได้สร้างส่วนที่เป็นครัวขึ้นก่อน เป็นสถานที่เรียนทั้ง
2 ระดับติดต่อกัน ตลอดปีการศึกษา 2501

อาจารย์ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินงาน ระยะเริ่มแรก ได้แก่
1. อาจารย์ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา
2. อาจารย์อาภรณ์ ชาติบุรุษ
3. อาจารย์สุภากร ราชากรกิจ
4. อาจารย์ประคอง ตันเสถียร
5. อาจารย์ประภาศรี ศิริจรรยา
6. อาจารย์กิติยวดี ณ ถลาง

ปีการศึกษา 2502 มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นต้องต่อเติมอาคารหอพัก ที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จรวมทั้งส่วนที่
เป็นครัวซึ่งใช้เป็นที่เรียนขณะนั้นด้วย โรงเรียนจึงจำเป็นต้องใช้สถานที่ใหม่ โดยไปเรียนที่คณะครุศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นกำลังก่อสร้างอาคารสถานที่เช่นเดียวกัน โดยใช้ส่วนที่เป็นห้องประชุม ห้อง 106 ในปัจจุบัน (ขณะนั้นพื้นยังไม่ได้เทคอนกรีต ห้องเรียนกั้นชั่วคราวด้วยเสื่อรำแพน) ให้เป็นที่เรียนของนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เรียนอีกด้านหนึ่ง (ปัจจุบันเป็นหน่วยพัสดุ และ ห้องเรียน ระดับดุษฎีบัณฑิต) สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ขณะนั้นยังไม่แล้วเสร็จ ในขณะที่การจัดกิจกรรม การเรียน การสอน จำเป็นต้องอดทนต่อเสียงรบกวน และฝุ่นละออง ที่เกิดขึ้นขณะที่มีการก่อสร้าง ตลอดเวลา ในปีการศึกษา 2502 นี้คณะได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ ดูแลการดำเนินงานของโรงเรียน

ในปีการศึกษา 2502 นี้เอง คณะเห็นว่าการดำเนินงานของโรงเรียนมีปัญหาและอุปสรรคมาก จึงขอให้มหาวิทยาลัย
ช่วยเหลือ ในที่สุดก็ได้บ้านพักอาจารย์หลังหนึ่ง ซึ่งเดิม เป็นที่พัก ของอาจารย์ชาวต่างประเทศ ที่รับราชการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนั้นอาคารชำรุดมากต้องซ่อมแซม เมื่อแล้วเสร็จจึงเปิดเป็นอาคารเรียนขึ้น จากนั้นบ้านหลังนี้ก็กลายสภาพเป็นโรงเรียนเรื่อยมา (ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบูรณะและอนุรักษ์ไว้ ตั้งชื่อว่า “เรือนภะรตราชา” )

ปีการศึกษา 2503 คณะครุศาสตร์ได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ เป็นอาจารย์ใหญ่ สืบแทน ศาสตราจารย ์อำไพ สุจริตกุล ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ ได้บริหารโรงเรียนต่อเนื่องกันประมาณ 10 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2512 คณะครุศาสตร์ได้ปรับปรุงระบบงานใหม่ เพื่อให้โรงเรียนสาธิตทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติงาน แก่อาจารย์ และนิสิตคณะครุศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น จึงได้แยก หน่วยงาน ออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายประถม และฝ่ายมัธยม มีอาจารย์ใหญ่ ทำหน้าที่ บริหารโรงเรียนแต่ละฝ่าย โดยมีแผนกวิชาประถมศึกษาและแผนกวิชามัธยมศึกษา ให้ความช่วยเหลือ
สนับสนุนด้านวิชาการ ภายหลังที่ได้แยกงานบริหารโรงเรียนออกเป็น 2 ฝ่ายแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของการบริหารงานในโรงเรียน

ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนในระยะแรกคืออาจารย์ใหญ่ ในปีการศึกษา 2518 คณบดีคณะครุศาสตร์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนโดยตำแหน่ง และในปีการศึกษา 2519 อาจารย์ใหญ่มีชื่อตำแหน่งเป็นรองคณบดี ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ

พ.ศ.2540 มีการปฏิรูปการบริหารงานโรงเรียน กำหนดให้ผู้บริหารดำรงตำแหน่งรองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียน และเขียนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

ผู้บริหารโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ
มิ.ย. 2502 – พ.ค. 2503 ศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล
มิ.ย. 2503 – ต.ค. 2512 ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ

ผู้บริหารโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม
ต.ค. 2512 – พ.ค. 2513 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภากร ราชากรกิจ
มิ.ย. 2513 – ธ.ค. 2516 รองศาสตราจารย์นิรมล สวัสดิบุตร
ธ.ค. 2516 – ธ.ค. 2527 รองศาสตราจารย์รุจิระ สุภรณ์ไพบูลย์
ม.ค. 2528 – 16 ธ.ค. 2531 ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชดา สุตรา
17 ธ.ค. 2531 – 23 ม.ค. 2532 ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์
(คณบดีคณะครุศาสตร์ รักษาการ)
24 ม.ค. 2532 – 16 ธ.ค. 2535 รองศาสตราจารย์ลินจง อินทรัมพรรย์
17 ธ.ค. 2535 – 25 ม.ค. 2536 รองศาสตราจารย์ลินจง อินทรัมพรรย์ (รักษาการ)
26 ม.ค. 2536 – 16 ธ.ค. 2539 รองศาสตราจารย์สมจิต ชิวปรีชา
17 ธ.ค. 2539 – 16 ม.ค. 2540 รองศาสตราจารย์สมจิต ชิวปรีชา (รักษาการ)
17 ม.ค. 2540 – 25 เม.ย. 2540 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์
(คณบดีคณะครุศาสตร์ รักษาการ)
26 เม.ย. 2540 – มี.ค. 2544 ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชดา สุตรา
เม.ย. 2544 – มี.ค. 2548 รองศาสตราจารย์ลัดดา ภู่เกียรติ
เม.ย. 2548 – มี.ค. 2552 รองศาสตราจารย์ลัดดา ภู่เกียรติ
เม.ย. 2552 – ก.ย. 2555 รองศาสตราจารย์สุปราณี จิราณรงค์
ต.ค. 2555 – มี.ค. 2560 รองศาสตราจารย์สุพร ชัยเดชสุริยะ
เม.ย. 2560 – ก.ย. 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทินกร บัวพูล
ต.ค. 2563 – ก.ย. 2565  รองศาสตราจารย์พัชรี วรจรัสรังสี
ต.ค.2565 – ปัจจุบัน        อาจารย์ศรียา เนตรน้อย